วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

วงเครื่องสาย

 วงเครื่องสาย
วงเครื่องสาย
เป็นวงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีที่มีสายประเภทเครื่องดีดและเครื่องสีเป็นหลัก และมีเครื่องเป่า และเครื่องตีร่วมบรรเลงอยู่ด้วย ส่วนใหญ่ใช้บรรเลงในงานมงคลไม่นิยมใช้บรรเลงในงานอวมงคล วงเครื่องสายมี 3 ประเภท
๑. วงเครื่องสาย มี 2 ขนาด
วงเครื่องสายวงเล็ก เครื่องดนตรีในวงบรรเลง ประกอบด้วย  
 ๑.ซอด้วง, ๒ ซออู้, ๓.จะเข้, ๔.ขลุ่ยเพียงออ, ๕.โทน - รำมะนา, ๖.ฉิ่ง
วงเครื่องสายเครื่องคู่ เครื่องดนตรีในวงบรรเลง ประกอบด้วย  
๑.ซอด้วง ๒ คัน, ๒.ซออู้ ๒ คัน, ๓.จะเข้ ๒ ตัว, ๔.ขลุ่ยเพียงออ, ๕.ขลุ่ยหลิบ, ๖.โทน - รำมะนา, ๗.ฉิ่ง

๒. วงเครื่องสายปี่ชวา
มีเครื่องดนตรีในวงบรรเลงเหมือนกับวงเครื่องสายทุกอย่างแต่ใช้ปี่ชวาแทนขลุ่ยเพียง และใช้กลองแขกแทนโทน-รำมะนา ประกอบด้วย 
๑.ซอด้วง, ๒.ซออู้, ๓.จะเข้, ๔.ปี่ชวา, ๕.ขลุ่ยหลีบ, ๖.กลองแขก, ๗.ฉิ่ง

๓. วงเครื่องสายผสม
มีเครื่องดนตรีในวงบรรเลงเหมือนกับวงเครื่องสายทุกอย่าง แต่เพิ่มเครื่องดนตรีประเภททำทำนองเข้ามาผสม 1 ชิ้น เช่น ขิม เรียกว่าเครื่องสายผสมขิม

ที่มา http://www.artbangkok.com/

วงปี่พาทย์

                                                            
                                                            วงปี่พาทย์
 วงปี่พาทย์ เป็นวงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วย เครื่องเป่า คือ ปี่ ผสมกับเครื่องตี ได้แก่ ระนาดและฆ้องวงชนิดต่างๆ เป็นหลัก และยังมีเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก และกลองสองหน้า ปี่พาทย์นี้บางสมัยเรียกว่า "พิณพาทย์"

วงปี่พาทย์มี 8 แบบ คือ
1.วงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นวงหลัก มีจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่สุด ดังนี้
ปี่ใน 1 เลา
ระนาดเอก 1 ราง
ฆ้องวงใหญ่ 1 วง
กลองทัด 2 ลูก
ตะโพน 1 ลูก
ฉิ่ง 1 คู่

2.วงปี่พาทย์เครื่องคู่ เป็นวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องทำทำนองเป็นคู่ เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้คิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง คือ ระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็ก และนำเอาปี่นอกซึ่งใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์สำหรับการแสดงหนังใหญ่สมัยโบราณมารวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าที่มีอยู่เดิม


วงปี่พาทย์เครื่องคู่มีเครื่องดนตรีดังนี้
ปี่ 1 คู่ คือ ปี่ในและปี่นอก
ระนาด 1 คู่ คือ ระนาดเอกและระนาดทุ้ม
ฆ้องวง 1 คู่ คือ ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก
กลองทัด 1 คู่
ตะโพน 1 ลูก
ฉิ่ง 1 คู่
ฉาบเล็ก 1 คู่
ฉาบใหญ่ 1 คู่
โหม่ง 1 ใบ
กลองสองหน้า 1 ลูก (บางทีใช้กลองแขก 1 คู่ แทน)

3.วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ คือ วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กกับระนาดทุ้มเหล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น กลายเป็นวงปี่พาทย์ที่มีระนาด 4 ราง โดยตั้งระนาดเอกเหล็กที่ริมด้านขวามือและตั้งระนาดทุ้มเหล็กที่ริมด้านซ้ายมือ ซึ่งนักดนตรีนิยมเรียกกันว่า "เพิ่มหัวท้าย" วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบางวงก็เพิ่มกลองทัด รวมเป็น 3 ใบบ้าง 4 ใบบ้าง ส่วนฉาบใหญ่นำมาใช้ในวงปี่พาทย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ ถ้ามีการบรรเลงเพลงภาษาจะใช้เครื่องดนตรีกำกับจังหวะของภาษานั้นๆ ด้วย เช่น
ภาษาเขมร ใช้ โทน
ภาษาจีน ใช้ กลองจีน กลองต๊อก แต๋ว
ภาษาฝรั่ง ใช้ กลองมริกัน (อเมริกัน) หรือกลองแตร็ก (side drum, snare drum)
ภาษาพม่า ใช้ กลองยาว
ภาษามอญ ใช้ ตะโพน เปิงมาง


4.วงปี่พาทย์นางหงส์ คือ วงปี่พาทย์ธรรมดาซึ่งใช้บรรเลงทั่วไป แต่เมื่อนำมาใช้ประโคมในงานศพ จะนำวงบัวลอยซึ่งประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 1 คู่ และเหม่ง 1 ใบ ที่ใช้ประโคมในงานศพเข้ามาผสม (ดู วงบัวลอย ประกอบ) โดยตัดปี่ใน ตะโพน และกลองทัด ออก ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด ส่วนเหม่งนั้นมีเสียงไม่เหมาะกับวงปี่พาทย์จึงไม่นำมาใช้ ใช้แต่โหม่งซึ่งมีอยู่เดิม เรียกว่า "วงปี่พาทย์นางหงส์"
วงปี่พาทย์นางหงส์ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพมาแต่โบราณก่อนวงปี่พาทย์มอญ สาเหตุที่เรียกว่าปี่พาทย์นางหงส์ ก็เพราะใช้เพลงเรื่องนางหงส์ 2 ชั้น เป็นหลักสำคัญในการบรรเลง นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการไปใช้บรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า "ออกภาษา" ด้วย


5.วงปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้อิทธิพลมาจากมอญ เช่น ฆ้องมอญ ปี่มอญ ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก ปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญมี 3 ขนาด ได้แก่
5.1วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
5.2วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า แต่เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องมอญวงเล็ก
5.3วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่เพิ่ม ระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก
วงปี่พาทย์มอญนั้นที่จริงแล้วใช้บรรเลงในโอกาสต่างๆ ได้ทั้งงานมงคล เช่น งานฉลองพระแก้วมรกตในสมัยธนบุรี และงานอวมงคล เช่น งานศพ แต่ต่อมานิยมบรรเลงในงานศพ เนื่องจากท่วงทำนองเพลงมอญมีลีลาโศกเศร้า โหยหวน ซึ่งเหมาะกับบรรยากาศของงาน จนบางท่านนึกว่าปี่พาทย์มอญใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น


6.วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือ วงปี่พาทย์ประสมชนิดหนึ่ง มีต้นเค้าสืบเนื่องมาจากละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกันปรับปรุงขึ้นโดยอาศัยแนวอุปรากร (opera) ของตะวันตกเข้าประกอบ ละครนี้ได้ชื่อตามโรงละคร ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ตั้งชื่อว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์" ละครก็เรียกว่า "ละครดึกดำบรรพ์" ด้วย วงปี่พาทย์ที่บรรเลงในการเล่นละครนี้จึงมีชื่อว่า "ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงคัดเลือกเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มนุ่มนวลประสมเข้าด้วยกันให้เหมาะสมกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ คือ
ระนาดเอก (ใช้ไม้นวม)
ระนาดทุ้ม
ระนาดทุ้มเหล็ก
ฆ้องวงใหญ่
ฆ้องหุ่ย 7 ใบ มีเสียงเรียงลำดับกัน 7 เสียง
ขลุ่ยเพียงออ
ตะโพน
กลองตะโพน
ฉิ่ง
ซออู้ (เพิ่มขึ้นภายหลังเมื่อแสดงเรื่องสังข์ศิลปชัย ได้ทรงบรรจุเพลงสังขารา ซึ่งต้องใช้ซออู้สีประกอบ)
ขลุ่ยอู้ (มีผู้คิดเพิ่มในภายหลัง)
วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นี้นอกจากจะเปลี่ยนแปลงการประสมเครื่องดนตรีต่างไปจากวงปี่พาทย์เดิมแล้ว ยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีตั้งเครื่องดนตรีอีกด้วย โดยตั้งระนาดเอกไว้กลาง ระนาดทุ้มอยู่ขวา ระนาดทุ้มเหล็กอยู่ซ้าย ฆ้องวงใหญ่อยู่หลังระนาดเอก ส่วนระเบียบวิธีการบรรเลงนั้นก็มีแบบแผนเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับการบรรเลงในการแสดงโขนละครโดยทั่วไป ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
-การบรรเลงทั่วไป เหมือนวงปี่พาทย์ชนิดอื่น ใช้บรรเลงเพลงต่างๆ ตามประสงค์และตามกาลเทศะ แต่ลักษณะการบรรเลงนั้นย่อมแตกต่างไปบ้าง ในเรื่องของแนวการบรรเลงซึ่งอยู่ในแนวช้า ไม่รวดเร็วดังเช่นปี่พาทย์เสภาและปี่พาทย์นางหงส์ นอกจากนี้วิธีการบรรเลงก็ไม่รุกเร้า โลดโผน เกรี้ยวกราด หรือสนุกสนานเต็มที่แต่จะดำเนินทำนองไปโดยเรียบเย็น นุ่มนวล ผสมเสียงฆ้องหุ่ยดังอุ้มวงอยู่ห่างๆ ได้บรรยากาศเย็น สงบ และกลมกล่อม
-การบรรเลงในละครดึกดำบรรพ์ ใช้บรรเลงตามแบบแผนที่ผู้ประพันธ์เพลงได้แต่งไว้เป็นการเฉพาะ เช่น เพลงโหมโรงมีลักษณะคล้ายการเล่าเรื่องก่อนการแสดง ดังเช่นโหมโรงฉากแรกในเรื่องคาวี ตอนเผาพระขรรค์ ประกอบไปด้วยเพลงบาทสกุณี เพลงแผละ เพลงเชิด เพลงโอด เพลงเร็ว เพลงลา เพลงโลม เพลงเสมอ เพลงรัว หมายถึง พระคาวีเสด็จมาปราบนกอินทรี จนได้พบนางจันท์สุดา และได้นางเป็นชายา นอกจากนี้เพลงแต่ละเพลงในการแสดงละครดึกดำบรรพ์ยังมีทำนองเชื่อมให้ฟังกลมกลืนเข้ากัน โดยเฉพาะเพลงที่มีสำเนียงหรือเสียงต่างกันก็ต่อเชื่อมได้สนิท ในรายละเอียดของเนื้อหาดนตรีก็ยังได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม หรือตัดทอนให้แตกต่างไปจากเพลงเดิมที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปอีกด้วย


7.วงปี่พาทย์ไม้นวม คือ วงปี่พาทย์ที่ใช้ไม้ตีระนาดเอกเปลี่ยนจากไม้แข็งเป็นไม้นวมคือ ไม้ตีจะพันผ้าและด้ายรัดหลายๆ รอบจนแน่น เมื่อใช้ตีจะมีเสียงนุ่มนวลเพิ่มซออู้อีก 1 คัน และใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ บางโอกาสอาจใช้กลองแขกตีเป็นเครื่องกำกับจังหวะ


8.วงปี่พาทย์เสภา คือ วงปี่พาทย์ซึ่งใช้กลองสองหน้าทำจังหวะหน้าทับแทนตะโพนและกลองทัด เริ่มนำมาบรรเลงร่วมกับการเล่นเสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


วงมโหรี


                                     วงมโหรี
     วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีผสมทั้งดีด สี ตี เป่า เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงเพื่อขับกล่อม ไม่นิยมบรรเลงในการแสดงใด ๆ
วงมโหรีมี 5 แบบ คือ
1. วงมโหรีเครื่องสี่ เป็นวงมโหรีที่รวมเอาการบรรเลงพิณและการขับไม้ ซึ่งมีมาแต่โบราณเข้าด้วยกัน เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา มีเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือ
1.1 ทับ (ปัจจุบันเรียกว่า โทน) เป็นเครื่องควบคุมจังหวะ
1.2 ซอสามสาย
1.3 กระจับปี่
1.4 กรับพวง (ผู้ขับร้องเป็นผู้ตีกรับพวง)
วงมโหรีเครื่องสี่นี้เดิมผู้ชายเป็นผู้บรรเลง ต่อมาเมื่อนิยมฟังมโหรีกันแพร่หลาย ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงนิยมให้ผู้หญิงฝึกหัดบรรเลงบ้างและได้รับความนิยมสืบต่อมา

2. วงมโหรีเครื่องหก คือ วงมโหรีเครื่องสี่ซึ่งเพิ่มเครื่องดนตรีอีก 2 อย่าง คือ รำมะนา สำหรับตีกำกับจังหวะคู่กับทับ และขลุ่ย (ปัจจุบันเรียกว่า ขลุ่ยเพียงออ) สำหรับเป่าดำเนินทำนอง และเปลี่ยนใช้ฉิ่งแทนกรับพวง นับเป็นการบรรเลงที่มีเครื่องดนตรีครบทั้งดีด สี ตี และเป่า
เกิดขึ้นในตอนปลายสมัยอยุธยา

3. วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก คือ วงมโหรีที่ได้เพิ่มเครื่องดนตรีและเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครั้งแรกเพิ่มระนาดเอกและฆ้องวง (ภายหลังเรียกว่า ฆ้องกลางหรือฆ้องมโหรี) (ดู ฆ้องมโหรี ประกอบ) ต่อมาจึงได้เพิ่มซอด้วงและซออู้ ส่วนกระจับปี่นั้นเปลี่ยนเป็นใช้จะเข้แทน เนื่องจากเวลาบรรเลงจะเข้วางราบไปกับพื้น ซึ่งต่างกับกระจับปี่ที่ต้องตั้งดีด ทั้งนมที่ใช้รองรับสายและบังคับเสียงก็เรียงลำดับมีระยะเหมาะสมกว่ากระจับปี่ เวลาบรรเลงจึงทำให้ใช้นิ้วดีดได้สะดวกและแคล่วคล่องกว่า นอกจากนี้จะเข้ยังสามารถทำเสียงได้ดังและทำเสียงได้มากกว่ากระจับปี่
ปัจจุบันวงมโหรีเครื่องเดี่ยวประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
1.ซอสามสาย 1 คัน ทำหน้าที่คลอเสียงผู้ขับร้อง และบรรเลงดำเนินทำนองร่วมในวง
2. ซอด้วง 1 คัน ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง หวานบ้าง
3.ซออู้ 1 คัน ดำเนินทำนองเป็นเชิงหยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง
4.จะเข้ 1 ตัว ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง รัวบ้าง และเว้นห่างบ้าง
5.ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
6.ระนาดเอก 1 ราง ดำเนินทำนองเก็บบ้าง กรอบ้าง ทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
7.ฆ้องวง (เรียกว่า ฆ้องกลางหรือฆ้องมโหรี) 1 วง ดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง
8.โทน 1 ลูก รำมะนา 1 ลูก ตีสอดสลับกัน ควบคุมจังหวะหน้าทับ
9.ฉิ่ง 1 คู่ ควบคุมจังหวะย่อย แบ่งให้รู้จังหวะหนักเบา
4. วงมโหรีเครื่องคู่ คือ วงมโหรีเครื่องเดี่ยวที่ได้เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเข้าในวง ทั้งนี้เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วงปี่พาทย์ได้เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กรวมเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงมโหรีจึงเพิ่มเครื่องดนตรีดังกล่าวบ้าง นอกจากนั้นยังเพิ่มซอด้วงและซออู้ขึ้นเป็นอย่างละ 2 คัน เพิ่มจะเข้เป็น 2 ตัวขลุ่ยนั้นเดิมมีแต่ขลุ่ยเพียงออ จึงเพิ่มขลุ่ยหลีบอีก 1 เลา ส่วนซอสามสายก็เพิ่มซอสามสายหลีบอีก 1 คัน และเพิ่มฉาบเล็กอีก1 คู่ด้วย
ปัจจุบันวงมโหรีเครื่องคู่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
ซอสามสาย 1 คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ซอสามสายหลีบ 1 คัน บรรเลงร่วมกับเครื่องดำเนินทำนองอื่น ๆ
ซอด้วง 2 คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ซออู้ 2 คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
จะเข้ 2 ตัว หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ขลุ่ยหลีบ 1 เลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง สอดแทรกทำนองเล่นล้อไปทางเสียงสูง
ระนาดเอก 1 ราง หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ระนาดทุ้ม 1 ราง ดำเนินทำนองเป็นเชิงหยอกล้อยั่วเย้าให้เกิดอารมณ์ครึกครื้น
ฆ้องวง 1 วง หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ฆ้องวงเล็ก 1 วง ดำเนินทำนองเก็บถี่ ๆ บ้าง สะบัดบ้าง สอดแทรกทำนองไปทางเสียงสูง
โทน 1 ลูก รำมะนา 1 ลูก หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ฉิ่ง 1 คู่ หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ฉาบเล็ก 1 คู่



                                          

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

คีตกวีไทย

พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก)

คีตกวีในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึง รัชกาลที่ 5 เป็นคีตกวีคนแรกที่นำเพลง 2 ชั้น มาทำเป็นเพลงสามชั้น มีความสามารถในการแต่งเพลง และฝีมือในทางเป่าปี่ เป็นเยี่ยม โดยเฉพาะเพลงเด่นที่สุดคือ "ทยอยเดี่ยว" บ้างเรียกท่านว่า "เจ้าแห่งเพลงทยอย" ซึ่งหมายถึงเพลงที่มีเทคนิคการบรรเลงและลีลาที่พิสดาร โดยเฉพาะลูกล้อ ลูกขัดต่างๆ
         อีกเพลงหนึ่งคือเพลง "เชิดจีน" เป็นเพลงที่ให้อารมณ์สนุกสนาน มีลูกล้อลูกขัด ที่แปลกและพิสดาร ท่านแต่งบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งได้รับการโปรดปรานมาก จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระประดิษฐ์ไพะเราะ"
         บทเพลงจากการประพันธ์ของท่านคือ เพลงจีนแส อาเฮีย แป๊ะ ชมสวนสวรรค์ การะเวกเล็ก แขกบรเทศ แขกมอญ ขวัญเมือง เทพรัญจวน พระยาโศก จีนขิมเล็ก เชิดในสามชั้น (เดี่ยว) ฯลฯ



หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
  เป็นบุตรครูสิน ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระประดิษฐ์ไพเราะ เป็นคนจังหวัด สมุทรสงคราม มีฝีมือในการตีระนาดที่หาตัวจับยาก จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้นได้ตีระนาดถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ ก็ได้รับรางวัลมากมาย และได้ประทานตำแหน่งเป็น "จางวางมหาดเล็กในพระองค์" คนทั่วไปจึงเรียกว่า "จางวางศร"
         นอกจากระนาดแล้ว ท่านยังสามารถบรรเลงปี่ได้ดี และสามารถคิดหาวิธีเป่าปี่ให้ เสียงสูงขึ้นกว่าเดิมได้อีก 2 เสียง
         ในด้านการแต่งเพลง ท่านสามารถแต่งเพลงได้เร็ว และมีลูกเล่นแพรวพราว แม้ในการประกวดการประดิษฐ์ทางรับ คือการนำเพลงที่ไม่เคยรู้จักมาร้องให้ ปี่พาทย์รับ ท่านก็สามารถนำวงรอดได้ทุกครา
         ผลงานเด่นๆ ของท่านมีมากมาย ได้แก่
         - ประดิษฐ์วิธีบรรเลงดนตรี "ทางกรอ" ขึ้นใหม่ในเพลง"เขมรเรียบพระนครสามชั้น" เป็นผลให้ได้รับพระราชทานเหรียญรุจิทอง ร.5 และ ร.6
         - ต้นตำรับเพลงทางเปลี่ยน คือ เพลงเดียวกันแต่บรรเลงไม่ซ้ำกันในแต่ละเที่ยว
         - พระอาจารย์สอนดนตรีแด่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนทรงมีพระปรีชาสามารถ พระราชนิพนธ์เพลงได้เอง คือเพลง "คลื่นกระทบฝั่งโหมโรง" "เขมรละออองค์เถา" และ "ราตรีประดับดาวเถา"
         - คิดโน๊ตตัวเลขสำหรับเครื่องดนตรีไทยซึ่งได้ใช้มาจนทุกวันนี้
         - นำเครื่องดนตรีชวาคือ "อังกะลุง" เข้ามาและได้แก้ไขจนเป็นแบบไทย
         - สอนดนตรีไทยในพระราชสำนักเมืองกัมพูชา และได้นำเพลงเขมรมาทำเป็น เพลงไทยหลายเพลง
         - ตันตำรับการแต่งเพลงและบรรเลงเพลง 4 ชั้น
         ท่านเป็นคีตกวีในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งนับว่าเป็นดวงประทีปทาง ดนตรีไทย ที่ใหญ่ที่สุดในยุคที่ดนตรีไทยเฟื่องฟูที่สุดด้วย


พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)

"ครูแปลก" เกิดที่หลังวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เป็นศิษย์คนหนึ่งของครูช้อย สุนทรวาทิน ท่านเคยได้บรรเลงเดี่ยวขลุ่ยถวายต่อหน้า สมเด็จพระนางเจ้าวิคทอเรียที่พิพิธภัณฑ์เมืองริมบลีย์ จนถึงกับถูกขอให้ไปเป่าถวายในพระราชวังบัคกิงแฮมต่อด้วย
         
ครูแปลกเป็นคนติดเหล้าอย่างหนัก แต่ไม่เคยเมาต่อหน้าศิษย์ ได้เป็นครูสอนวงเครื่องสายหญิงของเจ้าดารารัศมี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งแรกเป็นขุนประสานดุริยศัพท์ จนได้เป็นพระยาประสานดุริยศัพท์ใน พ.ศ. 2458 ท่านเคยเป่าปี่เพลงทยอยเดี่ยวในพระประดิษฐ์ไพเราะฟัง ถึงกับได้รับคำชมว่า "เก่งไม่มีใครสู้"
         นอกจากท่านจะเชี่ยวชาญปี่และขลุ่ยแล้ว ยังเก่งพวกเครื่องหนังด้วย ขนาดสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานณุพัธุวงศ์วรเดชตรัสชมว่า "ไม่ใช่คนนี่.. ไอ้นี่มันเป็นเทวดา" ท่านเป็นอาจารย์ของศิษย์ชั้นครูมากมาย เช่นพระเพลงไพเราะ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ พระยาภูมิเสวิน อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นต้น
          ผลงานเพลงที่สำคัญได้แก่ เพลงเขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีสามชั้น ธรณีร้องไห้สามชั้น (ธรณีกันแสง) พม่าห้าท่อนสามชั้น วิเวกเวหาสามชั้น แขกเชิญเจ้าสองชั้น


พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)

ครูโสม เกิดที่ฝั่งธนบุรี เริ่มเรียนระนาดลิเกจากน้าชาย จากนั้นได้เข้าร่วมเป็นนักดนตรีในกองดนตรีของสมเด็จพระบรม (รัชกาลที่ 6) เป็นคนตีระนาดหน้าฉากเวลาละครเปลี่ยนฉาก มีฝีมือในทางระนาดเป็นเยี่ยม ถึงขนาดเคยตีเอาชนะนายชิน ชาวอัพวา ซึ่งเป็นระนาดมือหนึ่งในสมัยนั้นมาแล้ว
         
นอกจากนั้นยังสามารถตีรับลิเกในเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ด้วย จนพระยาประสานดุริยศัพท์ชมว่า "โสมแกเก่งมาก ครูเองยังจนเลย"
ครั้งหนึ่งเคยได้ตีระนาดเพลงกราวในถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงพระประชวรให้บรรทม ครั้นตื่นพระบรรทมก็ทรงชมว่า "โสม เจ้ายังตีฝีมือไม่ตกเลย" นับว่าการตีปี่พาทย์ประกอบโขนละครในสมัยนั้น (รัชกาลที่ 5-7) ไม่มีใครสู้ครูโสมได้
          ท่านได้บรรดาศักดิ์เป็นพระ เมื่อ พ.ศ.2460 และถึงแก่กรรมเพราะซ้อมระนาดหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ และทานอาหารไม่เป็นเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ รวมอายุได้ 49 ปี


ที่มา  http://student.nu.ac.th/thaimusicclub/keetak.htm

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

เครื่องดีด


กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หรือพิณ 4 สายชนิดหนึ่ง ตัวกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง มีความหนาประมาณ 7 ซม. ด้านหน้ายาวประมาณ 44 ซม. กว้างประมาณ 40 ซม. ทำคันทวนเรียวยาวประมาณ 138 ซม. ตอนปลายคันทวนมีลักษณะ แบน และบานปลายผายโค้งออกไป ถ้าวัดรวมทั้งคันทวนและตัว กะโหลก จะมีความยาวประมาณ 180 ซม. มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย 4 อัน มีนมรับนิ้ว 11 นมเท่ากับจะเข้ ตรงด้านหน้ากะโหลกมีแผ่นไม้บางๆ ทำเป็นหย่องค้ำสายให้ตุงขึ้น เวลาบรรเลงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จับไม้ดีด เขี่ยสายให้เกิดเสียง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า “ร้องเพลงเรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้ กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่น” ต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับบรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนักมาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่นได้ยาก

กระจับปี่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจาก ภาษาชวา คำว่า กัจฉปิ ซึ่งคำว่า กัจฉปิ นั้นมีรากฐานของคำศัพท์ ในบาลีสันสกฤต คำว่า กัจฉปะ ที่แปลว่า เต่า เนื่องจากลักษณะของ กระจับปี่นั้น จะมีกระโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง ซึ่งมองแล้วคล้ายกับกระดองของเต่า จาก นิรัย พันแก่น และ ทับทิม สุกใส

เครื่องสี


ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จำพวกเครื่องสาย มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วงหรือซออู้ และมีลักษณะพิเศษ คือมีสามสาย มีคันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงเครื่องสาย ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวง

เสียงของซอสามสาย
 สายเอก ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ซอล และใช้ปลายนิ้วแตะที่ข้างสายโดยใฃ้นิ้วชี้ จะเป็นเสียง ลา, ใช้นิ้วกลางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วนางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียงโด, ใช้นิ้วก้อยแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง เร (เสียงสูง) , ใช้นิ้วก้อยรูดที่สายจะเป็นเสียง มี (เสียงสูง)
สายกลาง ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง เร และใช้นิ้วชี้กดลงบนสายจะเป็นเสียง มี, ใช้นิ้วกลางกดลงบนสายจะเป็นเสียง ฟา, ใช้นิ้วนางกดลงบนสายเป็นเสียง ซอล
สายทุ้ม ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ลา และใช้นิ้วชี้กดลงที่สายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วกลางกดลงที่สายจะเป็นเสียง โด, ใช้นิ้วนางกดลงที่สายจะเป็นเสียง เร

 

เครื่องเป่า


ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทย ทำด้วยไม้ไผ่ปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้ออย่างไฟให้แห้งแล้วตบแต่งผิวให้ ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม ด้านหน้าเจาะรูกลมๆเรียงแถวกัน 7 รู สำหรับนิ้วปิดเปิดเสียง ขลุ่ยไม่มีลิ้นเหมือนปี่ แต่เขาใช้ไม้อุดเต็มปล้อง แล้วปาดด้านล่างให้มีช่อง ไม้อุดนี้เรียกว่า ดาก ทำด้วยไม้สักเพราะไม่มีขุยมาบังลม ด้านหลังใต้ดากลงมา เจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ปาดตอนล่างเป็นทางเฉียงไม่เจาะ ทะลุตรงเหมือนรูด้านหน้า รูที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ เรียกว่า รูปากนกแก้ว ใต้รูปากนกแก้วลงมา เจาะรูอีก 1 รู เรียกว่า รูนิ้วค้ำ เพราะเวลาเป่า ผู้เป่าจะใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ เหนือรูนิ้วค้ำด้าน หลัง และเหนือรูบนของรูด้านหน้าทั้งเจ็ดรู แต่อยู่ทางด้านขวา เจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า รูเยื่อ เพราะแต่ก่อนจะใช้เยื่อไม้ไผ่ปิดรูนี้ ต่อมาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ตรงปลายเลาขลุ่ยจะเจาะรูให้ซ้ายขวา ตรงกันเพื่อร้อยเชื่อก เรียกว่า รูร้อยเชือก ดังนั้น จะสังเกตว่า ขลุ่ย 1 เลา จะมีรูทั้งสิ้น 14 รู

ขลุ่ยมีทั้งหมด 3 ชนิดคือ
1.ขลุ่ยหลีบ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 36 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม.
2.ขลุ่ยเพียงออ มีขนาดกลาง ยาวประมาณ 45 – 46 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม.
3.ขลุ่ยอู้ มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 60 ซม. กว้างประมาณ 4 – 5 ซม.

ต่อมามีผู้สร้างขลุ่ยกรวดขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ 1 เสียง ขลุ่ยกรวดใช้กับวงเครื่องสายผสมที่นำเอาเครื่องดนตรีฝรั่ง มาเล่นร่วมวง

เครื่องตี


ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูกทำจากทองเหลือง เรียงจากลูกเล็กด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14-17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อันขดเป็นวงขนานกัน เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง

ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จะเล่นดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องมาเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อน ฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลง